จากเหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น ทางด้าน ศาสตราจารย์ ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหว สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เผยว่า กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่หนึ่งที่มีความเสี่ยงต่อภัยแผ่นดินไหว แต่ลักษณะความเสี่ยงของกรุงเทพฯ นั้นแตกต่างจากของเมืองอื่นๆ
เนื่องจากไม่ได้ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีแผ่นดินไหวชุกชุม ความเสี่ยงจึงมิไม่ได้เกิดจากแผ่นดินไหวในระยะใกล้
แต่กลับเป็นผลกระทบที่เกิดจากแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในระยะไกล ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้กรุงเทพฯ เสี่ยงได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวสูง
เป็นเพราะตั้งอยู่บริเวณ “แอ่งดินอ่อน”แอ่งดินอ่อนไม่ได้ขยายคลื่นพลังงานจากแผ่นดินไหวในทุกย่านความถี่
แต่ขยายเฉพาะบางความถี่ คือ ในช่วงความถี่ต่ำหรือว่าเป็นค่าการสั่นยาวๆ ประมาณ 1-3 วินาที ซึ่งเรียกว่า “การสั่นสะเทือนแบบคาบยาว”
คือสั่นสะเทือนแบบช้าๆ ใช้เวลาครบรอบอาจจะประมาณ 2 วินาที ซึ่งคลื่นลักษณะนี้จะมีผลต่ออาคารสูง
แต่ไม่ค่อยมีผลต่ออาคารขนาดเล็ก โดยอาคารขนาดกลางในกรุงเทพฯ จะได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด
จากแผ่นดินไหวขนาด 7 อาคารขนาดสูงในกรุงเทพฯ จะได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดเมื่อเกิดแผ่นดินไหวขนาดมากกว่า 8.5
ด้าน ศาสตราจารย์ ศ.ดร.นคร ภู่วโรดม อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้เชี่ยวชาญด้าน Structural Mechanics and Structural Dynamics ระบุว่า พื้นที่กรุงเทพฯ
และปริมณฑลได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวจากระยะไกลบ่อยครั้ง เนื่องจากคลื่นแผ่นดินไหวถูกขยายกำลังในแอ่งดินอ่อนที่มีความลึก
ซึ่งลักษณะพื้นที่นี้เป็นที่ราบที่มีชั้นดินตะกอนดินเหนียวอ่อนและมีความหนามากบนแผ่นดินตะกอนแม่น้ำเจ้าพระยา
ที่เรียกว่า “ดินเหนียวกรุงเทพฯ” เป็นแอ่งดินขนาดใหญ่ (Soil basin) ลักษณะธรณีวิทยาแบบนี้มีคุณสมบัติขยายความรุนแรงแผ่นดินไหวได้
เนื่องจากแผ่นดินไหวเป็นคลื่นพลังงานที่วิ่งมาตามธรณี เมื่อเข้าไปในแอ่งนี้ คลื่นจะทะลุออกไม่ได้แต่จะเกิดปรากฏการณ์สั่นพ้องไปมา (Basin resonance)
ทำให้เกิดการสะสมพลังงานอยู่ในแอ่ง เป็นการขยายคลื่นแผ่นดินไหวในแอ่งดินอ่อน (Basin amplification) เหมือนที่เคยเกิดขึ้นที่กรุงเม็กซิโกซิตี้
ซึ่งแผ่นดินไหวอยู่ไกลประมาณ 300-400 กิโลเมตร แต่เมื่อคลื่นพลังงานเคลื่อนที่มาถึงแอ่งลักษณะนี้ส่งผลให้กรุงเม็กซิโกซิตี้
ได้รับความเสียหายอย่างหนัก อาคารถล่มจนมีผู้เสียชีวิตประมาณ 10,000 คน แอ่งดินอ่อนกรุงเทพฯ ไม่ได้ครอบคลุมแต่เพียงกรุงเทพฯ
แต่เพียงจังหวัดเดียว แต่กินพื้นที่ครอบคลุมกว่า 14 จังหวัด ได้แก่
พระนครศรีอยุธยา
กรุงเทพฯ
ฉะเชิงเทรา
นนทบุรี
นครปฐม
นครนายก
เพชรบุรี
ปราจีนบุรี
ปทุมธานี
ราชบุรี
สมุทรสาคร
สมุทรสงคราม
สมุทรปราการ
ชลบุรี
แผ่นดินไหวจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวคนกรุงเทพฯ และพื้นที่ปริมณฑลโดยรอบ การเตรียมพร้อม โดยเฉพาะการออกแบบอาคารสิ่งปลูกสร้างใหม่
ให้ทนทานต่อแผ่นดินไหวได้ และการประเมินความเสี่ยงของอาคารที่มีอยู่เดิม จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะลดความเสียหายจากภัยแผ่นดินไหว
ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต จากปัจจัยเสี่ยงของที่ตั้งที่มีลักษณะเป็นแอ่งดินอ่อนที่สามารถขยายกำลังแผ่นดินไหวได้ 3-4 เท่า
ขอบคุณข้อมูล: amarintv